วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555


งานประเพณีเข้าพรรษา

 


          งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จัดให้มีขึ้นทุกปี
          จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ความว่า ชาวอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนประกวดประชันความวิจิตรบรรจงกัน ตั้งแต่ พ.ศ.2470 จนเมื่อปี พ.ศ.2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่องานแต่ละปี ดังนี้

                    


          ปี พ.ศ. 2542 มีชื่องานว่า "งานแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่มาของ "เทียนเฉลิมพระเกียรติฯ" ที่ทุ่งศรีเมือง
          ปี พ.ศ. 2543 มีชื่องานว่า "หลอมบุญบูชา ถวายไท้นวมินทร์" มีความหมายว่า การหล่อเทียนพรรษาของชาวอุบลฯ เพื่อบำเพ็ญกุศลร่วมกัน การหล่อหลอมจิตศรัทธาให้เป็นหนึ่งเดียว เปรียบประดุจการหลอมบุญบูชา เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์
          ปี พ.ศ. 2544 มีชื่องานว่า "งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ" เนื่องจากเทียนพรรษาได้วิวัฒนาการไปจาก "ภูมิปัญญาดั้งเดิม" จนแทบจะจำเค้าโครงแต่โบราณไม่ได้ จึงได้มีการหันกลับมาทบทวนการจัดงานแห่เทียนพรรษา ตามภูมิปัญญาของชาวอุบลฯ ตั้งแต่เดิมมา
          ปี พ.ศ. 2545 มีชื่องานว่า "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" ด้วยเหตุที่ ททท.ได้เลือกงานแห่เทียนพรรษจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของประเทศในเดือนกรกฎาคม ตามโครงการ "เที่ยวทั่วไทย ไปได้ทุกเดือน" จึงจัดให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดเดือน อาทิ ได้เชิญช่างศิลป์นานาชาติประมาณ 15 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น มาร่วมแข่งขันการแกะสลักขี้ผึ้งตามสไตล์งานศิลปะแต่ละชาติ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาชมงานตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2545 ชื่องาน "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" เป็นคำย่อมาจากคำเต็มที่ว่า "อุบลฯ เมืองนักปราชญ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี"
          ปี พ.ศ. 2546 มีชื่องานว่า "สืบศาสตร์ สานศิลป์" เนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นการ "สืบทอดศาสนาและสืบสานงานศิลปะ" ดังคำกล่าวที่ว่า "เทียนพรรษา คือ ภูมิศิลปะแห่งศรัทธา" เพื่อความกระชับ จึงใช้ ชื่อว่า "สืบศาสน์ สานศิลป์" แต่โดยเหตุที่มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำว่า "ศาสตร์" มีความหมายกว้างกว่า ชื่องานจึงเป็น "สืบศาสตร์ สานศิลป์" ด้วยเหตุนี้
          ปี พ.ศ. 2547 มีชื่องานว่า "ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ พระแม่-แม่พระ ของแผ่นดิน
          ปี พ.ศ. 2548 มีชื่องานว่า "น้อมรำลึก 50 ปี พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ" เนื่องจากเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2498 ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จเยือนอุบลราชธานี ยังความปลาบปลื้มปิติแก่ชาวอุบลฯ เป็นล้นพ้น เพราะตั้งแต่สร้างบ้านเมืองมาเกือบ 200 ปี ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยม หรือทรงใกล้ชิดกับราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์เช่นนี้ ชาวอุบลฯ ทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมน้อมรำลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเหล้าล้นกระหม่อม พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ ปิติล้นพ้น ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาและตลอดไป
          ปี พ.ศ. 2549 มีชื่องานว่า "60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษา เทิดราชัน" เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


                           

          ปี พ.ศ. 2550 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำ เทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง"  เนื่องจากเป็นปีมหามงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย และการน้อมนำแนวพระราชดำรัสมาใช้ดำรงชีวิต
          ปี พ.ศ. 2551 มีชื่องานว่า "เมืองอุบลบุญล้นล้ำ บุญธรรม บุญทาน สืบสานตำนานเทียน"   เนื่องจากอุบลราชธานี มีสมญานามว่า "เมืองแห่งดอกบัวงาม" ซึ่งดอกบัว เป็นพฤกษชาติที่มีคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง อุบลราชธานีจึงมีวัฒนธรรมประเพณี ทำบุญทุกๆ เดือน คือการยึดถือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ (ฮีตสิบสอง คือจารีตที่ปฏิบัติแต่ละเดือน ตลอดปี จนเป็นประเพณีสืบต่อมา) ประเพณีแต่ละอย่างในฮีตสิบสอง ล้วนมีแต่ชื่อ ขึ้นต้นว่าบุญ หมายถึง ประเพณีที่มุ่งการทำบุญเป็นสำคัญ อุบลราชธานีจึงมี บุญล้นล้ำ ทั้งบุญธรรม บุญทาน อีกทั้ง งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีมาแต่โบราณ โดยเริ่มจากในสมัยแรกๆ เป็นเทียนเวียนหัว มัดรวมติดลาย วิวัฒนาการมาจนเป็น หลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2551
          ปี พ.ศ. 2552 มีชื่องานว่า "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม บุญล้ำเทียนพรรษา ประชาพอเพียง"   เนื่องจากอุบราชธานีเป็น "อู่อารยวัฒนธรรม อุดมอรียทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี" ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม จึงเป็นความรุ่งเรือง สว่างไสว อุดมสมบูรณ์ ในธรรมที่สำคัญยิ่ง 3 ประการ คือ พุทธธรรม อารยธรรม และธรรมชาติ ประกอบกับ การทำบุญเข้าพรรษาที่อุบลราชธานี มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี จึงเป็นที่รวมทำบุญเข้าพรรษาของประชาชนทัวประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก ท่านที่มาทำบุญเดือนแปดที่เมืองอุบลฯ จึงเป็นการบำเพ็ญกุศล ได้รับ "บุญล้ำเทียนพรรษา" โดยทั่วหน้ากัน พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอเน้นคำขวัญ ประชาพอเพียง ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ประชาชนพลเมือง จะมีความ พอเพียง ได้ ก็ด้วยคุณธรรมความพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพิเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ไม่มีความฟุ้งเฟ้อ ทะเยอทะยาน ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี เป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษ
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

          "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" 

          ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

          สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

          1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
          2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
          3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
          4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


          นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 
          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง 
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา

          นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า – เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป - เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว 

          ทั้งนี้ ในปี 2554 นี้ "วันเข้าพรรษา" จะตรงกับวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา